วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การใช้เทคโนโลยีในธนาคาร

เทคโนโลยีกับการพัฒนาที่รวดเร็ว
การพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายสิ่งหลายอย่างล้าสมัยลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเล่นสื่อแห่งความบันเทิง รวมทั้งผู้คนด้วย ท่านที่ทำงานในสำนักงานจะเห็นว่าอุปกรณ์สำนักงานในวันนี้กับเมื่อ 20 ปีก่อนเปลี่ยนไปมาก เครื่องเล่นสื่อแห่งความบันเทิง พวกวิทยุ โทรทัศน์ หรือ เทป ก็เช่นกัน ผู้คนก็ดูเปลี่ยนแปลงไป คนทำงานในสำนักงานก็ดูเปลี่ยนไป เข้าใกล้หุ่นยนต์เข้าไปทุกที เหมือนถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้สวัสดี ให้ทำงาน ให้พูดประโยคซ้ำๆอย่างนี้ อย่างขาดจิตวิญญาณ คนที่ไม่ปรับตัวให้รับและทำงานกับเทคโนโลยีใหม่ๆได้ อาจกลายเป็น "วัตถุโบราณ" ในสำนักงาน ที่พร้อมจะถูกโละทิ้งได้ทุกเวลา


การรับเทคโนโลยีอาจเป็นสิ่งจำเป็น และจำเป็นมากขึ้นทุกวัน แต่ขอให้รู้ทัน รู้จักใช้เทคโนโลยีให้เป็น ขอจงอย่าเป็นทาสเทคโนโลยี แต่จงใช้เทคโนโลยีให้เป็นทาส สำนักงานหลายแห่ง พอระบบคอมพิวเตอร์มีปัญหา ก็ไม่สามารถให้บริการกับลูกค้าได้ ทั้งๆที่เมื่อ 20 กว่าปีก่อน เราไม่มีคอมพิวเตอร์ เราก็สามารถทำงานได้


ผมได้ยินคำว่า "คอมพิวเตอร์" ครั้งแรกเมื่อปี 2515-2516 จากนาฬิกาข้อมือยี่ห้อ ORIENT ซึ่งเริ่มนำระบบตัวเลขมาใช้แทนระบบเข็ม เรียกชื่อรุ่นอย่างโก้หรูว่า ORIENT COMPUTER มีราคาแพง คนฐานะดีเท่านั้นที่จะหาซื้อมาใช้ได้ ต่อมาไม่นานก็มีราคาถูกลง ระบบตัวเลขเรียกว่า DIGITAL ระบบเข็มเรียกว่า ANALOG นาฬิกาคอมพิวเตอร์ก็เรียกว่า นาฬิกา QUARTZ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเลขแล้ว เพราะนาฬิกา QUARTZ ก็เป็นระบบเข็มได้ บางเครื่องมีทั้งระบบเข็มและระบบตัวเลข ทุกวันนี้นาฬิกา QUARTZ มีราคาถูกลงมาก ส่วนนาฬิกาไขลาน หรือ AUTOMATIC หายาก และกลายเป็นของแพงไปแล้ว


ในช่วงเดียวกันนี้ผมก็เริ่มเห็นวิทยุเทป แต่ก่อนนั้นวิทยุประกอบด้วยอุปกรณ์ที่มีลักษณะคล้ายๆหลอดไฟ (ไม่ทราบว่าเรียกอะไร) ต่อมาเปลี่ยนเป็นระบบทรานซิสเตอร์ ซึ่งทำให้วิทยุมีขนาดเล็กลงมาก ต่อมาก็มีเครื่องเล่นเทปออกมาแทนเครื่องเล่นแผ่นเสียง (เด็กรุ่นใหม่ส่วนมากไม่เคยเห็นแผ่นเสียง) แล้วต่อมาก็นำระบบเทปมารวมกับวิทยุ AM/FM กลายเป็นวิทยุเทป ผมยังจำความตื่นเต้นในสมัยเด็กๆได้ดี วันที่พี่ชายผมนำวิทยุเทปมาอวดพ่อ มันสามารถบันทึกเสียงที่เราพูดได้ มันสามารถบันทึกเสียงในวิทยุได้ ดูมันช่างวิเศษจริงๆ โทรทัศน์ในวันนั้นยังเป็นโทรทัศน์ขาวดำ บ้านผมยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หากจะซื้อโทรทัศน์มาดู มี 2 วิธี คือ 1. ใช้แบตเตอรี่ และ 2. ใช้เครื่องปั่นไฟ โทรทัศน์ขาวดำขนาด 17 นิ้ว (ไม่ต้องงงนะครับ สมัยก่อนมี 17 นิ้วจริงๆ) เครื่องหนึ่งราคาเกือบหมื่น (เมื่อเทียบกับข้าวสารถังละ 30 บาท ทองคำบาทละ 400 บาท)


สมัยนั้นบ้านที่มีโทรทัศน์ดู ต้องมีฐานะดี บ้านผมฐานะไม่ค่อยดีแต่มีโทรทัศน์ดูได้ เพราะน้าสาวเป็นเจ้าของร้านขายโทรทัศน์ จึงพอเจียดเงินผ่อนมือสองมาดูได้ แบบชนิดต้องซ่อมทุกเดือน สัญญาณก็ไม่ค่อยดี ต้องขึ้นเสาอากาศสูงลิบ และเสาอากาศนี่แหละที่เป็นสัญญลักษณ์ของความมีฐานะในสมัยก่อน


หลังจากนั้น10 ปี หรือช่วง 2525-2526 เป็นยุคของโทรทัศน์สี เพราะราคาของโทรทัศน์สีเริ่มถูกลง ขนาด 14 นิ้ว เหลือเพียงประมาณ 15,000 บาท แล้วเข้าสู่ยุคของเครื่องเล่นวีดีโอ สมัยนั้นผมเรียนหนังสือและอยู่หอพัก เพื่อนๆที่มีฐานะดี มักจะหารายได้พิเศษโดยการขนโทรทัศน์(บางคนก็โทรทัศน์สี บางคนก็ขาวดำ) พร้อมเครื่องเล่นวีดีโอ มาฉายเก็บเงินเหมือนเป็นโรงหนัง ทำรายได้ไม่น้อยเลย


ในช่วงเดียวกันนี้ ก็มีวิชาใหม่ เปิดให้ลงทะเบียนเรียน นั่นคือวิชาคอมพิวเตอร์ อาจารย์ที่สอนก็คืออาจารย์ที่ปรึกษาของผมนั่นเอง ดังนั้นผมจึงตัดสินใจไม่เรียน เพราะผมกลัวไม่ผ่าน และเพราะผมรู้จักอาจารย์ของผมดี อาจารย์ผมเป็นพูดน้อย และคนฟังมักจะฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง อย่าหาว่านินทาครูบาอาจารย์เลยนะ ผมว่าคนเป็นดอกเตอร์หลายๆคน เป็นอย่างอาจารย์ผมที่แหละ เพื่อนผม 4-5 คน เป็นหน่วยกล้าตายไปลงทะเบียนเรียนคอมพิวเตอร์ พอเรียนจบคอร์ส ถามมันว่าได้อะไรบ้าง มันตอบว่าไม่ค่อยได้อะไร ได้แต่เจาะกระดาษ ไม่รู้เจาะไปทำไม


ในระบบธนาคาร ถ้าผมจำไม่ผิด ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกที่นำระบบ ATM หรือเครื่องถอนเงินอัตโนมัติ มาให้บริการ ผมงงเป็นไก่ตาแตก มันทำได้ยังไวหวา จากนั้นมาธนาคารหลายธนาคารก็ได้พัฒนาตามจนเป็นระบบฝากถอนแบบ ONLINE หรือฝากถอนต่างสำนักงานได้ด้วยสมุดฝาก และบัตร ATM จนถึงวันนี้ (ปลายปี 2550) ระบบธนาคารพัฒนาถึงขั้นถอนเงินด้วยบัตร ATM กับตู้ต่างสาขา ต่างธนาคาร ต่างจังหวัดได้ โอนเงินไปต่างสาขา ต่างธนาคารได้ทั่วประเทศ สำหรับผม ผมได้ใช้บริการโอนเงินทางอินเตอร์เน็ตได้บนโต๊ะทำงานของผมเอง จะไปธนาคารก็เฉพาะเวลานำเงินไปฝากเท่านั้น แต่ก่อนนั้นผมงงว่าเขาทำได้อย่างไร เชื่อว่าหลายๆท่านก็คงงงเช่นกัน คำตอบง่ายๆก็คือ ข้อมูลมันผ่านทางระบบโทรศัพท์ครับ


ปี 2529 ผมเริ่มทำงานธนาคาร ธนาคารที่ผมทำงานครั้งแรกเพิ่งเริ่มใช้ระบบออนไลน์สำหรับเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน ส่วนเงินฝากประจำ และเงินกู้ยังใช้ระบบโบราณ ต่อมาผมเริ่มเห็นคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปครั้งแรก ในระบบงานด้านดร๊าฟ ผมมีโอกาสได้สัมผัสคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปครั้งแรกตอนเข้าช่วยงาน CONVERT ระบบเงินฝากประจำแบบโบราณ เป็นระบบ OFFLINE เมื่อปี 2533


ต่อมาคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปก็ได้เข้ามามีบทบาทกับการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนนั้นฮาร์ดดิสมีขนาดประมาณแบตเตอรี่รถเก๋ง หนักมาก และมีสายต่อรกรุงรังไปหมด ผมใช้คอมพิวเตอร์แบบงูๆปลาๆ เฉพาะกับงานที่จำเป็น สมัยนั้นใครต่อพ่วงสายคอมพิวเตอร์เป็นก็เก่งมากแล้ว ต่อมาไม่นานชะตาของเครื่องพิมพ์ดีดก็มีวี่แววว่าจะขาด เพราะคอมพิวเตอร์สามารถพิมพ์งานเอกสารได้ด้วยโปรแกรมต่างๆ เช่น เวิร์ดจุฬา เวิร์ดราชวิถี โลตัส 1-2-3 เป็นต้น


ประมาณ ปี 2535 เริ่มมีวินโดวส์ 3.11 ใช้ (เริ่มใช้เมาส์) ผมยังใช้ไม่เป็นอยู่ดี ในวงการเพลงเริ่มมี CD ออกขายแล้ว แผ่นละประมาณ 400 บาท เครื่องเล่นอย่างถูกๆ ก็เกือบหมื่น ส่วนวงการหนัง ยังเป็นวีดีโออยู่ ราคาเครื่องเล่นวีดีโอก็ถูกลงมามาก จำได้ว่าผมซื้อเครื่องเล่นวีดีโอเครื่องแรกแบบเล่นอย่างเดียว(อัดไม่ได้) ในปี 2536 ราคา 6,800 บาท และราคาก็ถูกลงมาเรื่อยๆ จนเหลือไม่ถึงสี่พันบาท เมื่อเครื่องเล่น VCD ออกมาในราคาประมาณห้าพัน และถูกลงมาเรื่อยๆจนเหลือพันกว่าบาท และพัฒนาเป็นเครื่องเล่น DVD ในที่สุด


สำหรับแผ่น CD เพลง และ VCD มีราคาถูกลงจากประมาณ 400 บาท ค่อยๆลดลงมาจนเหลือ 99 บาท ส่วนเลเซอร์ดิสก์ มีออกมาขายอยู่ระยะหนึ่งประมาณ ปี 2533-35 เนื่องจากมีราคาสูงมาก จึงสูญพันธุ์ไปในที่สุด


ผมทำงานใหม่ๆ ผมเป็นดาวเด่นในเรื่องงานเอกสาร เพราะผมพิมพ์สัมผัสได้เร็วกว่าคนอื่น เวลาผ่านไปเมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบาท ผมเริ่มไหวตัวแล้วว่าพิมพ์ดีดมันต้องมีชะตากรรมเดียวกับลูกคิด ที่ถูกเครื่องคิดเลขเข้ามาแทนที่ (คนเรียนพาณิชย์ในรุ่นเพื่อนๆผมต้องเรียนพิมพ์ดีด และลูกคิด) ผมจึงหาโอกาสไปเรียนคอมพิวเตอร์(ที่ผมเคยปฏิเสธตอนยังเรียนหนังสือ) ผมเรียนในปี 2538 ที่โรงเรียนสยามคอมพิวเตอร์ แถวสยามสแคว ค่าเรียน 1,500 บาท เรียนวินโดวส์ 3.11 อย่างเดียว ผลการเรียนดีมากครับ ไม่รู้เรื่องเลย


ผมยังไม่ละความพยายาม ผมพยายามหาซื้อหนังสือมาอ่าน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะขนาดหนังสือผมยังซื้อมาผิด ผมคิดได้ว่า ผมว่ายน้ำเป็นเพราะผมตกน้ำบ่อย ผมพายเรือเป็นเพราะผมพายบ่อย ผมขี่จักรยานเป็นเพราะผมซื้อจักรยานเป็นของตัวเอง ขี่มอเตอร์ไซค์เก่งเพราะซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นของตัวเอง ขับรถยนต์ได้เพราะซื้อเป็นของตัวเอง ผมจึงตัดสินใจซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในปี 2539 สเป็ค CYRIX 100 MHZ. RAM 16 MB. HARDDISK 1.2 GB ราคา 27,000 บาท เครื่องสำรองไฟอีกตัวละ 4,500 บาท ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 3.11 และ DOS เวอร์ชั่นอะไรจำไม่ได้ โปรแกรมหลักๆ ก็คือ เวิร์ดจุฬา กับโลตัส 1-2-3 ไม่มีซีดีรอม ดูหนังฟังเพลงยังไม่ได้ ซื้อมาทำงานอย่างเดียว


ปี 2540 สำนักงานใหญ่ส่งวีดีโอสอนการใช้โปรแกรม MICROSOFT WORD 4 ม้วน และ EXCEL 4 ม้วน รวม 8 ม้วนมาให้ศึกษา ให้เวลา 1 สัปดาห์ต้องคืน ผมคำนวณดูแล้ว ไม่มีทางศึกษาได้ทัน ผมจึงต้องซื้อเครื่องเล่นวีดีโอแบบบันทึกได้ ราคา 9,900 บาท มาบันทึกไว้ทั้ง 8 ม้วน ลงทุนขนาดนี้แล้ว ต้องให้ได้ผลเต็มที่ ผมยอมลดเวลานอนลงวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อศึกษา WORD & EXCEL จนใช้งานเป็น ความรู้ที่ได้เรียน ช่วยให้ผมทำงานได้สะดวกขึ้นมาก


ปี 2542 คอมพิวเตอร์ในยุคนั้นเริ่มดูหนังฟังเพลงได้ ผมจึงเอาคอมพิวเตอร์ของผมไปติดตั้งไดรฟ์ซีดีรอม และการ์ดเสียง แต่ว่าสเป็คของเครื่องมันไม่เหมาะ คือมันล้าสมัยแล้ว ในที่สุดต้องเปลี่ยนตัวใหม่ เป็นสเป็ค AMD K6-II 400 MHZ. SDRAM 32 MB. VGA SIS6326 8 MB. HARDDISK 4.3 GB. และการ์ดเสียง เวลาเพียง 3 ปี แม้ว่าเครื่องเก่าจะยังไม่เสีย แต่มันก็ไม่สามารถใช้งานตามต้องการได้ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ เป็นเรื่องที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนควรเข้าใจและทำใจ อย่าเอาคอมพิวเตอร์ไปเปรียบเทียบกับของอื่นๆ เช่น ตู้เย็น เพราะอัตราเร็วในการพัฒนามันต่างกัน


กลางปี 2543 ผมเริ่มใช้อินเตอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์ของผม ผมยังทำอะไรเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ไม่ได้ จึงต้องยกเครื่องไปให้ทางร้านเขาติดตั้งโมเด็มและตั้งค่าให้ การที่คอมพิวเตอร์ใช้งานได้มากมายหลายทางยิ่งขึ้น ปัญหาอุปสรรคย่อมมีมากขึ้น ประกอบกับผมเพิ่งลาออกจากธนาคารใหม่ๆ และเห็นว่าตัวเองสนใจคอมพิวเตอร์ ผมน่าจะทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จึงลองไปเรียนที่พันธุ์ทิพย์ ประมาณ 2 เดือน และอ่านหนังสืออีกเป็นเข่ง จนผมมีความเข้าใจและสามารถจัดสเป็คเองได้ ในที่สุดผมซื้อคอมพิวเตอร์เครื่องที่ 3 ในชีวิต เพื่อการเรียนรู้ เมื่อปี 2544 สเป็ค AMD DURON 700 SDRAM 128 MB. VGA TNT2M64 32 MB. HARDDISK 20 GB. เครื่องนี้เริ่มเล่นเกมส์สามมิติได้แล้ว ถ้าท่านสังเกตดูสเป็คคอมพิวเตอร์ของผม ลองเปรียบเทียบดูจากเก่ามาใหม่ จะเห็นได้ว่าค่าต่างๆ มันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ราคามันกลับถูกลง


ปลายปี 2545 ผมเปิดร้านคอมพิวเตอร์ ไล่เลี่ยกับการเปิดตัวของ WINDOWS XP ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่อีกแล้ว จะเอาเครื่องเก่าๆมาโชว์คงไม่เหมาะ สเป็คคอมพิวเตอร์เครื่องที่ 4 ของผม INTEL CELERON 1.7 GHZ. SDRAM 256BUS133 VGA ATI RADEON 7000 64 MB. HARDDISK 40 GB. ตัวนี้ไม่มีไดรฟ์ซีดีรอมนะครับ มีแต่ไดรฟ์ดีวีดีรอม กับไดรฟ์ CD-RW ซึ่งไรท์แผ่นได้ด้วย ในช่วงเวลานั้น ไดรฟ์ CD-RW เพิ่งเริ่มฮิตหลังจากที่ออกตัวมาแล้วปีเศษ เพราะราคาลดลงมาจนสามารถสัมผัสได้ ตอนนั้นราคา 2,500 บาท ในช่วงนั้นอุปกรณ์ต่อพ่วงก็ต่างลดราคาลงมาให้สัมผัสมากมาย เช่น สแกนเนอร์ เหลือ 4 พันกว่าบาท INKJET PRINTER เหลือสองพันกว่าบาท การ์ดทีวีก็สองพันกว่าบาท และแรมเริ่มพัฒนาเป็น DDR SDRAM หรือ DDR1 แต่ราคายังแพงอยู่


หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีเศษ ประมาณกลางปี 2547 ตัวเก็บข้อมูลชนิดใหม่ก็เริ่มแพร่หลายในตลาด เป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า THUMB DRIVE หรือ HANDY DRIVE หรือ FLASH DRIVE สุดแต่จะเรียกกัน แต่มันก็คือสิ่งเดียวกัน เป็นตัวเก็บข้อมูลเหมือนอย่างแผ่นดิสก์ แผ่นซีดี หรือฮาร์ดดิสก์ แต่มันไม่ต้องมีไดรฟ์สำหรับอ่าน เพียงเสียบเข้าไปในช่อง USB สักครู่ก็ไปปรากฏตัวอยู่ใน MY COMPUTER แล้ว ราคาตอนนั้นขนาด 64 MB. ก็พันกว่าบาทแล้ว (ลองเทียบกับราคาปัจจุบันดูเอาเองนะครับ) ทางด้านฮาร์ดดิสก์ มี INTERFACE ใหม่เป็น S-ATA แทนที่ IDE


ปี 2548 ผมเริ่มใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL 256 KBPS. แล้วเพิ่มเป็น 512 KBPS., 1 MBPS. และปัจจุบัน(ปลายปี 2550) 1.5 MBPS. ในช่วงที่ผมทำธุรกิจคอมพิวเตอร์ ผมเปลี่ยนคอมพิวเตอร์นับไม่ถ้วน ไม่ใช่รวย แต่มันเป็นงาน เราต้องทดสอบของใหม่บ่อยๆ แล้วก็ขายต่อไป ซีพียูมันมีค่าสูงขึ้นๆ จนสูงสุด และในที่สุดมันก็ไม่ได้วัดกันที่ความเร็วอีกต่อไป มันวัดกันที่องค์ประกอบอื่นๆ ที่ผมจะไม่กล่าวถึง


ในปี 2548 นี้เอง FLASH DRIVE ซึ่งก็คือตัวเก็บข้อมูล มันไม่เพียงเก็บข้อมูลไว้ให้คอมพิวเตอร์อีกต่อไปแล้ว มันสามารถเล่นด้วยตัวเองได้ บันทึกเสียงได้ รับวิทยุได้ และมีที่เสียบหูฟัง นวัตกรรมที่ว่านี้เรียกว่า ตัวเล่น MP3 และพัฒนาต่อมาเป็น MP4 ซึ่งมีจอสำหรับดูภาพและคลิปวีดีโอได้


เกมส์ออนไลน์ก็เริ่มเฟื่องฟูในยุคนี้ ตามด้วยกล้องดิจิทอล (ซึ่งเปิดตัวมานานแล้ว แต่ราคาถูกจนแพร่หลายในช่วงนี้) กล้องดิจิทอลต้องใช้ลีลาท่าทางในการถ่ายต่างจากกล้องสมัยโบราณ ซึ่งต้องแนบติดกับตาช่างภาพ โทรศัพท์มือถือก็บูมสุดขีดในช่วงนั้นแหละแถมยังถ่ายรูปแทนกล้องดิจิทอลได้ด้วย และกลายเป็ยอวัยวะส่วนที่ 33 หรือเป็นปัจจัยที่ 5 ของคนสมัยใหม่ ในที่สุด


ปี 2549 ฮาร์ดแวร์เปลี่ยนจาก 32 บิท เป็น 64 บิท


ปี 2550 เปิดตัว WINDOWS VISTA , DDR II และ INTERFACE S-ATA II


เทคโนโลยีก้าวไปอย่างรวดเร็ว เราอาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตามในทุกเรื่อง การที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความจำเป็นมากกว่า แต่อย่างน้อยเราก็ควรรู้ว่า เทคโนโลยีไปถึงไหน และ "เรา" อยู่ตรงไหน

ขอเชิญทุกท่านที่เข้ามาอ่าน โปรดให้ความคิดเห็นและเพิ่มเติมประวัติศาสตร์ที่ผมร่ายยาวมาข้างตนด้วย เพราะเพียงประสบการณ์ของคนคนเดียวย่อมไม่สามารถบันทึกประวัติศาสตร์ได้ทั้งหมด คนเรานั้นอายุสั้น เมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์ที่ยาวไกล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น